E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  ธันวาคม 2566 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนธันวาคม 2566

สถานการณ์การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีกระทบห่วงโซ่อุปทานสินค้าโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากทะเลแดงถือเป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่างเอเชียกับยุโรป เฟดส่งสัญญาณยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มโอกาสเกิด soft-landing ในปีหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็น 110.7 ในเดือนธันวาคม 2566 ส่วนเศรษฐกิจจีนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา และยังกดดันภาพรวมเศรษฐกิจ สำหรับการประชุมกรอบงานด้านเศรษฐกิจประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลระบุว่าในปี 2567 จะให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2566 ยังขยายตัวช้าบนท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการ และยังมีหลายปัจจัยแปรผันที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่การเร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุน และมีการขยายตลาดเพิ่มมูลค่าการค้ากับต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้มีตลาดที่รองรับการส่งออกหรือที่จะดึงการท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนธันวาคม 2566 ลดลงร้อยละ 0.83 (YOY)

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนธันวาคม 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 88.8 จาก 90.9 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากภาคการผลิตชะลอตัวลง กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากปัญหาหนี้ครัวเรือน อัตราค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรติดตามสถานการณ์ และออกมาตรการต่างๆ เช่น การช่วยเหลือและบรรเทาผลกรทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้นจากปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนธันวาคม 2566 ปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 54.8 จากระดับ 55.0 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนธันวาคม 2566 ส่งออกมูลค่า 22,791.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (795,823.94 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.65 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 21,818.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (770,821.56 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 3.05 (YoY)  ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 972.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (25,002.38 ล้านบาท) ทั้งนี้ การส่งออกไทยปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 284,561.80 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.0 ดุลการค้าของไทยปี 2566 ขาดดุลการค้ามูลค่า 302,925.88 ล้านบาทลดลงร้อยละ 50.55 และเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 5,192.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 61.83 (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี2566)

พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ และน้ำมันดีเซล ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.84 ล้านบาร์เรล และ 0.27 ล้านบาร์เรลตามลำดับ ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความไม่แน่นอนในทะเลแดง ภูมิภาคตะวันออกลางอย่างใกล้ชิดภายหลังกองกำลังฮูตี (Houthi) โจมตีเรือบรรทุกสินค้าทุกลำที่มุ่งหน้ามายังอิสราเอลผ่านทะเลแดง ส่งผลให้ตลาดกังวลถึงผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป บริษัทขนส่งหยุดหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งน้ำมันซึ่งจะใช้เวลนานมากขึ้นกว่า 10 วัน ซึ่งทำให้ค่าขนส่งเรือสูงขึ้นราว 29% ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 74.11 และ 79.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนธันวาคม 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภาพรวมภายในประเทศปรับตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง เกษตรกรกรีดยางได้มากขึ้น ประกอบกับราคายางในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศที่มีการปรับย่อตัวลดลงมาไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 375,029 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.93 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 12.1 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.30 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 163,337 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 14.10 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 2.90 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2566 จำนวน 93,372 คัน (57.17% ของยอดผลิตทั้งหมด) ลดลง 13.02% (YoY) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2566 จำนวน 69,965 คัน (42.83% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ลดลง 15.51% (YoY) ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,621 คัน ทั้งนี้ รวม 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน 2566) ผลิตแล้ว 1,708,042 คัน เพิ่มขึ้น 0.98% 


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com