history history
 
   
iconสถานการณ์ยางพาราปี 2557 [   ธันวาคม  2556 ]

 

 

สถานการณ์ยางพาราปี 2557  คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) จะอยู่ที่  2.9 % และ 3.6 % ในปี 2556 และ 2557   ตามลำดับ  โดย IMF คาดการณ์ว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะฟื้นตัวกลับมาโตมากขึ้นกว่าเดิมในปี 2557 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังโตเร็วต่อเนื่อง  โดยภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดคือเอเชียและแอฟริกา ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก  โดยจีนจะยังคงเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยระหว่างปี 2557-2561 ประมาณร้อยละ 7.7 ส่วนประเทศอินเดียคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยระหว่างปี 2557-2561 ประมาณร้อยละ 5.9 อย่างไรก็ตาม GDP โลกยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง วิกฤตหนี้ยูโรโซนยังคงบานปลาย และความผันผวนของตลาดหุ้นและราคาน้ำมัน รวมถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติทั่วโลก ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยด้านผลผลิต ความต้องการใช้และปริมาณส่วนเกินของยางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางพารา โดย Economic Intelligence Unit รายงานว่าผลผลิตยางโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.6 เปอร์เซ็นต์ เป็น 11.8 ล้านตันในปี 2557 และจะเพิ่มขึ้น 4.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12.4 ล้านตันในปี 2558  ผลผลิตยางของไทยจะเติบโต 6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 และ 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 ส่วนอุปสงค์ยาง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 และ 2558 (คาดว่าปี 2556 ลดลงเหลือ 1.6 เปอร์เซ็นต์) คิดเป็นปริมาณ 11.6 ล้านตันในปี 2557 และ 12.1 ล้านตันในปี 2558 การใช้ยางของจีนจะเติบโต 2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 และประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 ความต้องการยางของอินเดียหดตัวประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 และจะขยายตัว 8.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557  จากปริมาณอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลให้ส่วนเกินยางธรรมชาติของโลกจะเพิ่มขึ้นต่อไปจนถึงปี 2558 โดยส่วนเกินยางธรรมชาติของโลกในปี 2556 จะแตะระดับที่ 134,000 ตัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ตันในปี 2557 และเป็น 257,000 ตันในปี 2558 

อย่างไรก็ตามสมาคมยางพาราไทยยังคงมีความเห็นเชิงบวกว่า  ยางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี และมีความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศ(ITRC)  ตลอดจนภาครัฐไทยมีมาตรการและความพร้อมในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ  จึงน่าจะทำให้สถานการณ์ยางพาราสดใสยิ่งขึ้น

โดยสรุป สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย  รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนตลอดไป   

ในโอกาสศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2557  ผมขอส่งความปรารถนาดี และขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ และความเจริญในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการอ

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด