history history
 
   
iconงานเลี้ยงประจำปี 2566 [   พฤษภาคม  2566 ]

 

สมาคมยางพาราไทย ได้กำหนดจัดงานเลี้ยงประจำปี 2566  เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ การจัดงานเลี้ยงประจำปีครั้งนี้มีแขกผู้สนใจ นักธุรกิจ ผู้เกี่ยวข้องในวงการยางจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า 1,000 ท่าน  และได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในการเข้าร่วมงาน และท่านณกรณ์ ตรรกวิรพัท ได้ให้เกียรติกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน  โดยสรุปประเด็นสำคัญดังนี้ 
ยางพาราเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญยิ่งของโลกและของประเทศไทย เช่นกัน นับตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีเนื้อที่กรีดยางพารา 21.98 ล้านไร่ ผลิตยางทั้งสิ้น 4.82 ล้านตัน และส่งออก 4.13 ล้านตัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคายางในตลาดโลกมีความผันผวน เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศคู่ค้า มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลให้ราคายางและห่วงโซ่อุปทานการส่งออกในระบบเศรษฐกิจชะลอตัว

ปี 2566 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยาง หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19  ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geo politics) และปัญหาโลกร้อน ซึ่งสมาคมฯให้ความสำคัญต่อปัญหาโลกร้อนใน 2 ประเด็นคือ การพัฒนาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยาง (Sustainability) และการตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิต(Traceability) โดยมีแนวโน้มไปสู่การทำการค้าอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในหลายประเทศให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) การยุติการตัดไม้ทำลายป่า (Zero-Deforestation) และความยั่งยืน (Sustainability) โดยทุกภาคส่วนควรเตรียมตัว ตระหนักรู้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับ 3 ประเด็นสำคัญดังกล่าวอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้การที่ราคายางตกต่ำและมีความผันผวนอย่างมากย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางในทุกภูมิภาคของโลก และผู้ใช้ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ไม่ได้รับประโยชน์มากนักในระยะยาว  ดังนั้น ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยางทั้งเกษตรกร ผู้แปรรูป ผู้ค้า และผู้ใช้ยางมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการจัดการผลผลิต และการใช้ยางให้ได้ระดับสมดุล ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ราคายางที่เหมาะสมและยั่งยืน 

การจัดงานเลี้ยงประจำปี 2566 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือร่วมใจอย่างดีเยี่ยมจากคณะกรรมการ สมาชิกและทีมเจ้าหน้าที่สมาคมฯ  ในนามสมาคมยางพาราไทย กระผมขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง และคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยางให้แน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป


นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด