history history
 
   
iconพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยนวัตกรรมยางพารา [   เมษายน  2566 ]

 

สถานการณ์ยางพาราปี 2566 คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 โดยเฉพาะประเทศจีนได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.9% ในปี 2566  และ 3.1 % ในปี 2567 อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆขณะเดียวกันปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อทำให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานในยุโรปส่งผลต่อวิกฤตค่าครองชีพ (Cost of living crisis) นอกจากนี้ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลกมีแนวโน้มสูง เป็นผลจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น  การตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐ กับจีน  อาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้เกิดภาวะหดตัว(downside risk) และเป็นปัจจัยกดดันราคายางให้ตกต่ำต่อเนื่องส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนโค่นต้นยาง และหันไปประกอบอาชีพอื่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความเสี่ยงในด้านอุปทานยางโลกในอนาคต

ภายใต้สภาวะวิกฤตด้านราคายางเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืน  โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาแปรรูปยางดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมยาง  สร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมจากยางพารา โดยสมาคมยางพาราไทย ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพารา ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  โดยเชิญผู้ประกอบการสินค้าเพื่อทางการแพทย์และสุขภาพ สินค้าด้านวิศวกรรมและพลังงาน สินค้าด้านการเกษตรและปศุสัตว์ สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม สินค้านวัตกรรมอาหาร สินค้าด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์  ลดภาระด้านการลงทุนและประหยัดเวลาในการวิจัยและพัฒนาสินค้า และเกิดสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดและสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ยางพาราจากประเทศไทย ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามรายละเอียดดังนี้  ข้อมูลผลงานนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญ: https://bit.ly/3lQ5H7M  รายละเอียดโครงการ: https://bit.ly/40HYlBV  ใบสมัครออนไลน์: http://bit.ly/42fBory 

สมาคมยางพาราไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวและการปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ในภาวะวิกฤตราคายางตกต่ำ และขอสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา พัฒนาต่อยอดสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา โดยการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางและนวัตกรรมใหม่ ออกสู่ตลาดไทยและตลาดโลก

นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด