history history
 
   
iconIncoterms® 2020 [   มกราคม  2560 ]

 

กฎเกณฑ์เงื่อนไขทางการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศหรือ Incoterms เป็นการกำหนดภาระหน้าที่ที่ชัดเจนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และช่วยลดความเสี่ยงของความซับซ้อนในเชิงกฎหมายลงได้ โดยหอการค้านานาชาติได้ให้กำเนิดกฎ Incoterms ในปีค.ศ. 1936 และได้มีการปรับปรุงมาตรฐานสัญญาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกให้ทันสมัยอยู่เสมอ และนำไปใช้อย่างแพร่หลายเป็นเวลานาน จนปัจจุบันเข้าสู่ฉบับ Incoterms® 2010 บัดนี้เป็นเวลาอันสมควรที่หอการค้านานาชาติ(International Chamber of Commerce) จะทำการประเมินว่า Incoterms® 2010 ยังคงตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ดำเนินอยู่ในทุกวันนี้ได้ดีเพียงใด ที่ประชุมหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand)  จึงได้จัดประชุม Focus Group เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ณ  หอการค้าแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ในการนี้ผู้แทนจากบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) ผู้แทนสมาคมน้ำยางข้นไทย และนางสาว     ปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทย ได้เข้าร่วมประชุมหารือในการจัดทำ Incoterms® 2020

ที่ประชุม Focus Group ได้รับประเด็นสำคัญจากหอการค้านานาชาติที่จะขอหารือดังนี้ 1) Cargo Security ที่ประชุมมีความเห็นว่า Incoterms ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้ซื้อหรือผู้ขาย เสนอว่าค่าใช้จ่ายควรเป็นของผู้ร้องขอให้ทำกิจกรรมนั้น โดยมีหลักการว่าค่าใช้จ่ายต้นทางเป็นของผู้ขาย ปลายทางเป็นของผู้ซื้อ ส่วนที่เหลือตามกฎ Incoterms 2) Verified Gross Mass(VGM) เป็นการร้องขอจากสายเรือ เนื่องจากการแจ้งน้ำหนักไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นอันตรายต่อการวางน้ำหนักบนเรือซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุเรือล่มได้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า ไม่ควรระบุ Shipper ใน Incoterms เพราะ Shipper ใน Bill of Lading(B/L) อาจไม่แน่นอน ดังนั้นผู้ขายมีหน้าที่ต้องแจ้งน้ำหนักที่ถูกต้อง 3)Containers มี 2 ประเด็นที่หารือคือ 3.1 เสนอให้ใช้ FCA Term แทน FOB Term ในกรณีการขนส่งแบบ Container เนื่องจากเหมาะสมกว่าทั้งภาระค่า THC และการรับผิดชอบความเสียหาย อย่างไรก็ตามผู้ซื้ออาจไม่ยอมรับการใช้ FCA Term เพราะผู้ซื้อจะมีภาระความรับผิดชอบและความเสี่ยงมากขึ้น 3.2 เสนอให้ใช้ CPT Term แทน CFR และ CIF Term ในกรณีการขนส่งแบบ Container 4 ) FAS  Term เสนอให้คงไว้ เพราะยังมีผู้ใช้บางส่วนสำหรับการขนส่งแบบ Conventional 5) Commodities ที่ประชุมเห็นว่า Incoterms® 2010 ครอบคลุมสินค้า Commodities แล้ว 6) EXW/DDP ที่ประชุมเห็นว่าให้คงไว้เหมือนเดิม ไม่จำเป็นต้องแยก term ออกจากกัน 7) Insurance ที่ประชุมเห็นว่ากฎการประกันใน Incoterms ครอบคลุมเพียงพอแล้วยกเว้น CIP (Air Transportation) 8) อื่นๆ  สมาคมยางพาราไทยได้เสนอประเด็นขอความชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบค่า THC ตาม FOB Term โดยขอให้ระบุใน Incoterms ว่า THC ตาม FOB Terms เป็นความรับผิดชอบของผู้ซื้อ เนื่องจากการค้าในปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำนาจในการต่อรองของผู้ซื้อและผู้ขาย ประเด็นเรื่อง THC เป็นปัญหาที่สมาคมการค้าอื่นประสบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้แทนหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าหลักการของ Incoterms คือเป็นหลักปฏิบัติเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างๆ จะไม่ระบุชัดเจนมากนัก ที่ประชุมจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำส่งแก่หอการค้านานาชาติ โดยมีกำหนดการรวบรวมความคิดเห็นจากทั่วโลกในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะทำงานร่าง Incoterms® 2020 ซึ่งหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย จะแจ้งความคืบหน้าแก่สมาคมฯ ต่อไป

สมาคมยางพาราไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับปรุง Incoterm® 2020 ให้มีความชัดเจนทันสมัยและครอบคลุมเพียงพอต่อสภาพแวดล้อมทางการค้าในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นที่ยอมรับจากผู้ซื้อและผู้ขาย สมาคมฯขอเชิญชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ติดตามและร่วมนำเสนอประเด็นในการปรับปรุง Incoterms® 2020 เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมยางไทยโดยภาพรวม

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด