history history
 
   
iconสถานการณ์ยางพาราปี 2560 [   ธันวาคม  2559 ]

 

สถานการณ์ยางพาราปี 2560  คาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ กอปรกับราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 3.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลักจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.2 เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 1.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นและเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เศรษฐกิจอินเดียจะยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 7.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้และปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.6 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า จาก 0.5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลเลื่อนการขึ้นภาษีบริโภคออกไป และมีการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.2 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า จาก 6.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เนื่องจากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม  ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวในอัตราแผ่วลงเล็กน้อยที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า จาก 1.7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เนื่องจากความมั่นใจของนักลงทุนลดลงจากการที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป  ด้านราคาน้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า ขยับขึ้นจาก 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ เนื่องจากกลุ่มประเทศโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน เหลือ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่ม 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป เป็นเวลา 6 เดือน

นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยด้านผลผลิต ความต้องการใช้และปริมาณส่วนเกินของยางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางพารา โดย The Rubber Economist คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติจะขยายตัวอย่างเด่นชัดในอัตรา 2.7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในปี 2560-2561 จนแตะระดับ 13.30 ล้านตันในปี 2561 จาก 12.39 ล้านตันในปีนี้ ในขณะที่การใช้ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ในช่วงปี 2559-2561จะยังคงเติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ สู่ระดับ 29.16 ล้านตันในปี 2561 ส่วน The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติของโลกจะขยายตัว 2.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 ในทิศทางเดียวกับราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น และสภาพอากาศที่น่าจะมีความเหมาะสมมากขึ้น แต่การผลิตจะขยายตัวลดลงเล็กน้อยที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 ในขณะที่การใช้ยางธรรมชาติของโลกจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560-2561 จากความต้องการในหลายภูมิภาค ในทิศทางเดียวกับการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2560

สมาคมยางพาราไทยมีความเห็นเชิงบวกว่า  ยางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี และได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ตลอดมา โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการจำกัดการส่งออกระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 ความร่วมมือในการใช้ยางทำถนนระหว่าง 3 ประเทศ  และโครงการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อส่งเสริมการใช้ยาง อีกทั้งภาครัฐไทยมีมาตรการและความพร้อมในการแก้ปัญหาราคายาง จึงคาดว่าจะทำให้สถานการณ์ยางพาราปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อไป โดยมีโครงการที่น่าจับตามอง ได้แก่ โครงการควบคุมปริมาณการผลิต ตั้งเป้าส่งเสริมการปลูกแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดี 3 แสนไร่ต่อปี และพืชชนิดอื่นอีก 1 แสนไร่ต่อปี  โดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่  เพื่อลดพื้นที่การปลูกยาง และโครงการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ เพื่อสร้างสมดุลและรักษาเสถียรภาพราคายางให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

โดยสรุป สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนตลอดไป


ในโอกาสศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2560 ผมขอส่งความปรารถนาดี และขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ และความเจริญในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประกา

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด