history history
 
   
iconบทบาทของไทยในสมาคมยางนานาชาติ [   พฤษภาคม  2559 ]

 

สมาคมยางนานาชาติก่อตั้งขึ้นที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2514 ด้วยความร่วมมือของสมาคมการค้าจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพารา มีสมาชิกทั้งหมด 21 องค์กร จาก 13 ประเทศ โดยสมาคมยางพาราไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่ม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วย 9 สมาคมการค้า จากประเทศผู้ผลิตยาง 4 สมาคม และประเทศผู้ใช้ยาง 5 สมาคม มีวาระการบริหารงาน 2 ปี วัตถุประสงค์หลักของสมาคมยางนานาชาติคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านการค้ายาง การจัดทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างประเทศด้วยความเป็นธรรม ประสานความร่วมมือด้านการผลิต การค้า และการใช้ยางธรรมชาติระหว่างประเทศผู้ผลิตยางและประเทศผู้ใช้ยาง และการแก้ปัญหาธุรกิจยาง รวมทั้งการพัฒนาการค้ายางอย่างเป็นธรรม  สมาคมยางนานาชาติได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก ปัจจุบันสำนักงานกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ตั้งอยู่ที่สมาคมยางพาราไทย

สมาคมยางนานาชาติมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารทุกปี โดยในปี 2559 นายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ พร้อมด้วย นายศุภเดช อ่องสกุล เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ และนายประสิทธิ์ เพชรหนูเสด เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรม เพนินซูลา เอ็กเซลซิเออร์ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) ตลาดแลกเปลี่ยนสิงคโปร์ (SGX SICOM) สมาคมยางยุโรป (RTAE) สมาคมยางญี่ปุ่น (RTAJ) สมาคมยางอินโดนีเซีย (GAPKINDO) และสมาคมผู้ปลูกและผู้ผลิตยางเมียนมาร์ (MRPPA)

ในโอกาสเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ นายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ ได้กล่าวว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากในอุตสาหกรรมยาง โดยเฉพาะภาคต้นน้ำและกลางน้ำ ราคายางลดลงอย่างรุนแรง ท่ามกลางเงินดอลลาร์แข็งตัวและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การเก็งกำไรทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรยากลำบาก ทั้งที่ยางถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม เราจึงตกอยู่ในวังวนการพนัน ที่อ้างว่าเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดและอ้างว่าเป็นการค้นหาราคาที่แท้จริง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงจรนี้ โดยลดการเก็งกำไรและลดจำนวนพ่อค้าคนกลาง (dealer) มิฉะนั้น วงจรนี้จะนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในที่สุด นอกจากนี้ท่านได้ตั้งข้อสังเกตแนวทางการได้มาของตัวเลขสถิติสต็อกยางโลก ซึ่ง IRSG รายงานที่ปริมาณ 2-3 ล้านตัน และสต็อกปริมาณมากเช่นนี้เก็บอยู่ที่ใด

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ได้หารือในหลายประเด็นสำคัญได้แก่ การจัดเตรียมตัวอย่างยางแผ่นรมควันตามมาตรฐาน Green Book การเสนอขอแก้ไขสัญญาการค้ายางแท่ง (Amendments to the IRA Contract for TSR) วินัยทางสัญญา (Contract Discipline)  และการรับรองความเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมผู้ปลูกและผู้ผลิตยางเมียนมาร์ และบริษัทตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX)

การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ในนามสมาคมยางพาราไทย ผมขอขอบคุณนายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ และนายศุภเดช อ่องสกุล เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ตลอดจนกองเลขานุการสมาคมยางพาราไทย ในการจัดการประชุมเป็นที่เรียบร้อย ผมคาดหวังว่าสมาคมยางนานาชาติจะมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมการค้ายางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด