history history
 
   
iconความก้าวหน้าโครงการวิจัยยางพารา [   พฤศจิกายน  2558 ]

 

บทบาทสำคัญประการหนึ่งของสมาคมยางพาราไทย คือการเข้าร่วมประชุมวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนายางพารา เพื่อเสนอความคิดเห็นแก่นักวิจัยในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และขยายผลวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์  โดยในปี 2558  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้เชิญนางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทย ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการของประเทศ: กลุ่มเรื่องยางพาราประจำปี 2559

โครงการวิจัยยางพาราแบบมุ่งเป้า มีจุดมุ่งหมายในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากยางพารา หรือผลิตภัณฑ์ที่มียางพาราเป็นองค์ประกอบ เพื่อการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นทางเลือกกับผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งนี้จะต้องมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดหรือสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมได้ และผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดขยายผลสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้  นักวิจัยได้เสนอผลงานที่น่าสนใจดังนี้ 1)การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบคุณภาพยางก้อนถ้วยแบบรวดเร็ว โดย 3 เทคนิคคือ 1.1) การวัดปริมาณเนื้อยางแห้งในยางก้อนถ้วยด้วยเทคนิคสเปกโทรสโกปีอิมพีแดนซ์ไฟฟ้า 1.2)การวัดปริมาณเนื้อยางแห้งในยางก้อนถ้วยด้วยการวิเคราะห์ภาพสเปกตรัมอินฟาเรดย่านใกล้ 1.3)เครื่องวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์น้ำยางแห้งยางก้อนถ้วยด้วยคลื่นความถี่สูง การวิจัยนี้ต้องมีการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งที่รวดเร็วและแม่นยำจะช่วยให้การตรวจวัดคุณภาพยางก้อนถ้วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าเกษตร และเป็นการทดแทนการวัดปริมาณเนื้อยางแห้งในยางก้อนถ้วยโดยการประเมินความชื้นด้วยสายตา  2)การเตรียมฉนวนยางกันร้อนที่สามารถต้านทานการติดไฟจากยางธรรมชาติ  เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางธรรมชาติ และเป็นการพัฒนาแนวทางในการปรับปรุงสมบัติของยางธรรมชาติ  รวมทั้งพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และ3)การประยุกต์ใช้ซีรัมน้ำยางพาราให้เกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์            การปศุสัตว์  การเกษตร และอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ในการผลิตผลิตภัณฑ์สารต้านจุลินทรีย์จากของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมยางพารา อันได้แก่ ซีรัมน้ำยางพารา เป็นการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้มีโครงการวิจัยกลุ่ม Selected Topics ที่น่าสนใจได้แก่ 1)โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบด้านผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียน 2)โครงการจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของน้ำยางข้นและยางแห้ง 3)โครงการวิจัยพัฒนาวัสดุยางผสมป้องกันการกระแทกแรงสูง  4)โครงการมาตรฐานยางเคลือบสระจากน้ำยางข้น 5)การวิจัยและพัฒนาเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางในและยางนอกรถจักรยาน  6)การวิจัยยางคอมโพสิตสำหรับยางต้นแบบ และ7)หุ่นยนต์ถอนผลิตภัณฑ์ยางจากแม่พิมพ์

การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ  สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด