history history
 
   
iconตลาดบราซิล [   กุมภาพันธ์  2557 ]

 

      บราซิล หนึ่งในกลุ่มประเทศ BRIC ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน บราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และเป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรมและป่าเขตร้อน

      การที่บราซิลมีทรัพยากรธรรมชาติที่มากมายและมีแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และเป็นอันดับที่ 10 ของโลก โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโต GDP ปี 2557 เป็น 3.2 % (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)

      บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางรายใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยปี 2554 บราซิลมีพื้นที่ปลูกยาง 1.15 ล้านไร่ พื้นที่กรีดยาง 843,125 ไร่ ในปี 2555 มีผลผลิตยางธรรมชาติ 171,5000 ตัน มีการใช้ยางธรรมชาติ 343,400 ตัน มีการนำเข้ายางธรรมชาติ 181,100 ตัน(องค์กรยางระหว่างประเทศ) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง 4,539.74 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรก คือ สหรัฐ(14.93 %) จีน(12.47 %) ไทย(8.79 %) ญี่ปุ่น(6.68 %) และมาเลเซีย (6.17 %) โดยบราซิลนำเข้าจากไทยมูลค่า 399.14 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนยางธรรมชาติร้อยละ 64.01 ยางรถยนต์ต่างๆ ชิ้นส่วนยาง เช่น ท่อยาง สายรัดยาง ถุงมือยาง ร้อยละ 18.95 และสินค้ายางอื่น ๆ ร้อยละ 17.04

      บราซิลนำยางธรรมชาติไปใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์เป็นส่วนใหญ่(65%) ส่วนที่เหลือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรองเท้า อุปกรณ์การแพทย์ ของเล่นเด็ก อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของบราซิลนับว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของบราซิลอย่างมาก โดยบราซิลเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ลำดับที่ 7 ของโลก สามารถผลิตได้ประมาณ 3.4-4.5 ล้านคันต่อปี มีบริษัทที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจำนวนประมาณ 2,000 บริษัท มีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 89,000 คน และมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่ในบราซิลทั้งสิ้น 15 โรงงาน เช่น Pirelli, Goodyear, Bridgestone และ Michelin เป็นต้น

      อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคสำคัญได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิลที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ ปัญหาค่าแรงที่สูงกว่าคู่แข่ง ปัญหาด้านโครงสร้างภาษีของบราซิลมีความซับซ้อนและล้าสมัย และปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร (สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ นครเซาเปาโล)

      จากข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงศักยภาพและการเติบโตของบราซิลที่มีผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยาง ควรที่ภาครัฐและเอกชนจะได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ แนวทางหนึ่งในการขยายตลาดคือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้พบกับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพ โดยงานแสดงสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ งานแสดงสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ EXPOBOR(ครั้งที่ 11) ระหว่างวันที่ 23-25 เมษายน 2557 ณ เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล

      สมาคม ฯ คาดหวังว่าการขยายตลาดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดบราซิลโดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ส่งออกยางไทย ทั้งในด้านการเรียนรู้เทคโนโลยียางที่ทันสมัยและมีโอกาสพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้ายางพาราบราซิล เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกยางไทยไปยังประเทศบราซิล

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด