history history
 
   
iconยางพารากับภาวะโลกร้อน [   พฤศจิกายน  2560 ]

 

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกหรือที่เรียกกันว่า ภาวะโลกร้อนเป็นสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญระดับโลก ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศและระบบนิเวศไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เป็นภัยคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ภาวะโลกร้อนเกิดจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 0.8 องศาเซลเซียส นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในรูปของภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ปี 2543 สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานคิดเป็นร้อยละ 70 ภาคการเกษตรร้อยละ 22.6 และส่วนที่เหลือเป็นการปล่อยจากกระบวนการอุตสาหกรรม ของเสีย และการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ประเทศไทยต้องเผชิญและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและการแพร่กระจายของเชื้อโรคและพาหะนำโรค นำมาซึ่งการเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและมีรูปแบบการพัฒนาที่ต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ภาวะโลกร้อนจึงนับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ในส่วนของยางพารา การปลูกยางพาราเป็นหนึ่งทางออกที่สามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ นอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับโลก ทั้งยังช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ลดการทำลายป่า ลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และที่สำคัญยางพารายังเป็นแหล่งดูดซับหรือเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหญ่ของโลกได้ใกล้เคียงกับป่าเขตร้อน ข้อมูลจากการทดลอง ณ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างปี 2557-2558 พบว่า สวนยางอายุ 22 ปี มีอัตราการแลกเปลี่ยนคาร์บอนสุทธิที่ -6,496.24 kg CO2 rai-1  หมายความว่า คาร์บอนฟุตปริ้นต่อพื้นที่ของสวนยางอายุ 22 ปี มีค่าคาร์บอนฟุตปริ้นต์เท่ากับ -6,496.24 kg CO2 rai-1 มีอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหนือผิวดินสูงสุดในช่วงฤดูฝนและต่ำสุดในช่วงฤดูแล้งที่  9.917-10.045 ton CO2 rai-1 year-1 และคำนวณเป็นอัตราการสะสมคาร์บอนจากผิวดิน 2.704-2.739 ton CO2 rai-1 year-1 กล่าวได้ว่า ต้นยางพาราสามารถตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาไว้ในต้นและราก รวมทั้งช่วยเพิ่มคาร์บอนสะสมในดินจากการร่วงของใบ กิ่ง ต้น ผล และการสลายของราก  จึงช่วยลดคาร์บอนในอากาศ ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ จึงถือว่ายางธรรมชาติเป็น Green product นอกจากนี้ยังพบว่าระบบนิเวศยางพาราในสวนยางมีสถานะเป็น Carbon sink หรือ แหล่งกักเก็บคาร์บอน เนื่องจากต้นยางพาราสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นชีวมวลสะสมอยู่ในระบบนิเวศยางพารา

 สมาคมยางพาราไทยเล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของยางพาราในการลดภาวะโลกร้อนอย่างสอดคล้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรและยังส่งผลถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด