history history
 
   
iconวิกฤติสงคราม [   มีนาคม  2565 ]

 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เข้าสู่ภาวะสงครามตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ได้สร้างผลกระทบต่อโลกขยายวงกว้างมากขึ้น โดยผลกระทบหลักที่กระทบกับทุกประเทศ คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อไปทั้งปี โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง การขนส่งทางเรือและทางอากาศ โรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสายเดินเรือต้องมีการปรับเส้นทางเดินเรือในบางเส้นทาง รวมถึงมีการปรับเพิ่มค่าระวางเรือระหว่างประเทศ และส่งผลกระทบถึงตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกที่หวั่นวิตกว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย ในขณะที่ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวมีข้อมูลยืนยันว่ามีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนตกค้างในประเทศไทยมากถึง 30,000 คน และจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม  นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการชำระเงิน หลังจากประเทศรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางการเงิน  ส่วนราคาสินค้าหลายรายการได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมถึงวัตถุดิบการผลิตที่สูงขึ้น เช่น เหล็กสำหรับผลิตกระป๋อง รวมถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตรเมื่อราคาปุ๋ยสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าปุ๋ยจากประเทศรัสเซียที่มีราคาถูกกว่าแหล่งผลิตอื่น

หอการค้าไทยให้ความเห็นว่าผลกระทบจากการนำเข้าส่งออกระหว่างไทย-รัสเซีย และไทย-ยูเครน นั้น มีผลกระทบโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมสูงมาก และกระทบไปทั่วโลก  ดังนั้นราคาสินค้าหลายอย่างจึงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแล้ว ซึ่งที่น่าเป็นกังวลอีกส่วนหนึ่งก็คือราคาค่าขนส่ง  โดยเฉพาะค่าระวางเรือ ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรหลักในการฟื้นเศรษฐกิจไทย จึงควรมีแนวทางรักษาระดับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าต่อไป   นอกจากนี้หอการค้าไทยยังมีความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีโอกาสเกิดภาวะที่มีเงินเฟ้อสูง(stagflation) ในขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากเกินกว่ารายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 

วิกฤติ "รัสเซีย-ยูเครน"  ก่อให้เกิดความกังวลแก่ประชากรทั่วโลก  และยังมิอาจประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน  การปรับตัวและการวางแผนธุรกิจในภาวะวิกฤติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง  สมาคมฯ คาดหวังว่าสงครามจะคลี่คลายและยุติลงโดยเร็ว   เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวม

นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด