history history
 
   
iconยางพารากับการจัดทำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป [   สิงหาคม  2564 ]

 

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกหรือที่เรียกกันว่า  “ภาวะโลกร้อน” เป็นสถานการณ์ปัญหาที่มีความสำคัญระดับโลก ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศและระบบนิเวศไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ภาวะโลกร้อนเกิดจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในรูปของภัยธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ปี 2543 สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานคิดเป็นร้อยละ 70  ภาคการเกษตรร้อยละ 22.6 และส่วนที่เหลือเป็นการปล่อยจากกระบวนการอุตสาหกรรม ของเสีย และการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน   ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก  และนับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 

สมาคมยางพาราไทย ได้รับทราบข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเชลส์ เรื่องการจัดทำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(Carbon Border Adjustment Mechanism-CBAM) ของสหภาพยุโรป โดยที่ประชุมใหญ่สภายุโรปได้มีมติเห็นชอบการออกมาตรการ CBAM เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 เพื่อปรับราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป สรุปสาระสำคัญดังนี้ 1)มาตรการ CBAM จะต้องสอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก(World Trade Organization-WTO) และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปด(A new Industrial Strategy for a globally competitive, green and digital Europe) 2)เห็นควรเก็บค่าคาร์บอนกับสินค้านำเข้าในราคาเดียวกับค่าคาร์บอนที่บริษัทในสหภาพยุโรปต้องจ่าย เพื่อสร้างภาวะการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน โดยจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สามที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนสูง ได้แก่ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอลูมิเนียม ก่อนพิจารณาขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นซึ่งอาจรวมถึงสินค้าในห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ด้วยในอนาคต 3)เห็นควรให้คงการออกใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า(free allocation of emission allowances) แก่บริษัทในสหภาพยุโรป จนกว่าจะมีการประเมินอย่างรอบคอบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการ CBAM ต่อการป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนไปยังประเทศที่สาม (ที่มา : https://bit.ly/3wNw4KZ) อย่างไรก็ตาม ประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุน และประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยและอินโดนีเซีย มองว่ามาตรการ CBAM  มีความยุ่งยาก และเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีการเลือกปฏิบัติต่อประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมีประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของ WTO และการบริหารจัดการรายได้จากการดำเนินมาตรการฯ อย่างชอบธรรม 

สมาคมฯ เห็นว่าการปลูกยางพาราเป็นหนึ่งทางออกที่สามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ และที่สำคัญยางพารายังเป็นแหล่งดูดซับหรือเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหญ่ของโลกได้ใกล้เคียงกับป่าเขตร้อน โดยสมาคมฯ ได้รับทราบข้อมูลจากดร. ดวงรัตน์ ศตคุณ และรศ.ดร. พูนพิภพ เกษมทรัพย์ ทีมวิจัยจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในประเด็นสำคัญคือ ทุก 1 kg ของ latex จากยางธรรมชาติ สร้างมาจากการ “ตรึง CO2 สุทธิ” >20 kg  กล่าวได้ว่า ต้นยางพาราสามารถตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาไว้ในต้นและราก รวมทั้งช่วยเพิ่มคาร์บอนสะสมในดินจากการร่วงของใบ กิ่ง ต้น ผล และการสลายของราก  จึงช่วยลดคาร์บอนในอากาศ ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ จึงถือว่ายางธรรมชาติเป็น green product นอกจากนี้ยังพบว่าระบบนิเวศยางพาราในสวนยางมีสถานะเป็น carbon sink หรือ แหล่งกักเก็บคาร์บอน เนื่องจากต้นยางพาราสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นชีวมวลสะสมอยู่ในระบบนิเวศยางพารา  

สมาคมยางพาราไทยจะติดตามความคืบหน้าของการจัดทำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(CBAM) ของสหภาพยุโรป และจะแจ้งสมาชิกสมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือมาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราไทยไปยังสหภาพยุโรป   



นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด