history history
 
   
iconร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ...ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาง [   มิถุนายน  2563 ]

 

ตามที่มีคณะบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ... และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันฯ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดระบบบริหารจัดการ การควบคุมด้านการผลิต การจำหน่าย และการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา โดยกำหนดหน้าที่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา สหกรณ์การเกษตร โรงงานและผู้จัดจำหน่ายยางพารา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกยางพารา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกำหนดราคายางพาราและค่าผลประโยชน์อื่นจากยางพาราของโรงงานหรือผู้จัดจำหน่ายยางพารา พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุนแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา และสำนักงานคณะกรรมการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด และจัดตั้งกองทุนแบ่งปันผลประโยชน์ยางพาราขึ้นอีกด้วย


ร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ...เป็นการจำลองแนวคิดและคัดลอกมาจากกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งฉบับ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นยางพาราเท่านั้น โดยจะครอบคลุมต้นน้ำและกลางน้ำเท่านั้น สมาคมยางพาราไทย มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ... จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาง จึงได้ส่งผู้แทนสมาคมฯ เข้าร่วมการเสวนาวิชาการ “พ.ร.บ. แบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา มิติใหม่ของระบบยางพาราไทย ใครได้..ใครเสีย...” จัดโดย หน่วยวิจัยเศรษฐศาสตร์ยางพารา (REA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีความเห็นโดยสรุปดังนี้ 1)ร่างพ.ร.บ. แบ่งปันฯ จะส่งผลให้ราคายางในประเทศสูงกว่าราคาส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมปลายน้ำไม่ได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต อาจส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งขัดกับนโยบายภาครัฐที่จะเพิ่มมูลค่าการใช้ยางในประเทศ 2)ร่างพ.ร.บ. แบ่งปันฯ มีความซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย และพ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542โดยเฉพาะมาตรา 16 อำนาจคณะกรรมการและการแบ่งปันผลประโยชน์ 3)บริบทของยางพารา มีความแตกต่างกับอ้อยและน้ำตาล โดยยางพาราเป็นพืชยืนต้นอายุยาว ส่วนอ้อยเป็นพืชไร่อายุสั้น และการควบคุมอุปสงค์ อุปทานยางพารา ทำได้ยาก นอกจากนี้ยางพารามีตลาดล่วงหน้าที่มีราคาผันผวนและไม่ได้ส่งมอบ ส่วนน้ำตาลส่งมอบจริงในตลาดลอนดอน และนิวยอร์ค เป็นต้น 4)ข้อมูลพื้นที่ปลูก พื้นที่กรีด หรือต้นทุนยาง ในแต่ละหน่วยงานของประเทศไม่ตรงกัน ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการตามร่างพ.ร.บ. แบ่งปันฯ 5)การเก็บค่าธรรมเนียมการทำวิจัยและส่งเสริมการผลิตยางพาราเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่า cess เป็นการสร้างภาระแก่เกษตรกรชาวสวนยาง และ6)บทลงโทษของร่างพ.ร.บ.แบ่งปันฯ สำหรับผู้ประกอบการ มีอัตราโทษสูงทั้งจำคุกและปรับ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงอีกประการคือหลักการร่างพ.ร.บ แบ่งปันฯ จะขัดกับหลักการค้าเสรี(WTO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลอุดหนุนมากเกินไป ประเทศคู่แข่งก็อาจจะฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ซ้ำรอยกับสินค้าอ้อยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ในการนี้ คณะกรรมการสมาคมฯ มีความกังวลถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางในวงกว้าง จึงมีความเห็นแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและติดตามร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ....โดยสมาคมฯ ได้รับเกียรติจากนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล อุปนายกสมาคมฯ เข้ารับตำแหน่งประธานคณะทำงานฯ ซึ่งจะได้ดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานฯ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว ในลำดับถัดไป

สมาคมยางพาราไทย ขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องติดตามเรื่องร่างพระราชบัญญัติการแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา พ.ศ. ....อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวในการบริหารจัดการ สมาคมฯ คาดหวังว่าการประกาศใช้กฎหมายใดๆ ควรมีการพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมยางไทยโดยภาพรวม




นายไชยยศ  สินเจริญกุล
 นายกสมาคมยางพาราไทย
 





 

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด