history history
 
   
iconความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย [   กันยายน  2560 ]

 

ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลก โดยปี 2559 ผลผลิตยางธรรมชาติโลก 12.4 ล้านตัน เป็นผลผลิตยางไทย 4.47 ล้านตัน(36 %)  อินโดนีเซีย 3.21 ล้านตัน(25 %) และมาเลเซีย 673,500 ตัน(5 %)  ผลผลิตทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 67 % ของผลผลิตยางโลก ปัญหาสำคัญคือราคายางมีความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจโลก และบ่อยครั้งที่ราคายางพาราตกต่ำมาก ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันในบางช่วงราคายางสูงเกินไป ทำให้ผู้ใช้ยางได้รับความเดือดร้อน

ผู้ผลิตและผู้ใช้ยางทั่วโลก ได้หารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้จัดตั้งองค์กรยางระหว่างประเทศ หรือ INRO ขึ้นในปี 2523 และได้ยุติบทบาทลงในปี 2542 เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตและผู้ใช้ยางมีทัศนะแตกต่างกันเกี่ยวกับราคายางขั้นต่ำ ต่อมาในปี 2544 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ และทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยได้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมบาหลี(Bali Declaration 2001) เพื่อการจัดตั้งสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council: ITRC) และในปี 2546 ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber Consortium Limited: IRCo) โดยนายกสมาคมยางพาราไทยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสภาไตรภาคียางฯ และกรรมการ บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด

สภาไตรภาคียางระหว่างประเทศจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีปีละหนึ่งครั้ง โดยในปี 2560 รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมสภาไตรภาคียางฯ ระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 15 กันยายน 2560 ณ โรงแรม      แชงกรีล่า กรุงเทพฯ โดยมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม ในการนี้นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมฯ และนางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุม มีประเด็นสำคัญได้แก่      1) การเพิ่มปริมาณการใช้ยางในแต่ละประเทศสมาชิก ITRC ให้มากขึ้นปีละ 10 % โดยให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านยางพารา  2) การจัดตั้งตลาดยางระดับภูมิภาค(Regional Rubber Market : RRM) ทั้งสามประเทศเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาตลาด RRM เป็นตลาดล่วงหน้า (Futures Market) และขอให้แต่ละประเทศสมาชิก ITRC เชิญชวนผู้ซื้อและผู้ขายเข้าร่วมในตลาดมากขึ้น  3) มาตรการจัดการอุปทาน(SMS) ทั้งสามประเทศเห็นว่าเป็นมาตรการระยะยาวในการสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน และจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการจัดการอุปทาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคายางและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยาง 4) มาตรการจำกัดการส่งออก (AETS) เป็นมาตรการระยะสั้นที่ทั้งสามประเทศจะติดตามสถานการณ์ราคายางอย่างใกล้ชิด หากราคายางปรับตัวลดลงจะมีการหารืออย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาตรการ AETS มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ  5) การเชิญชวนประเทศเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางฯ ทั้งสามประเทศมีความเห็นร่วมกันในการรับประเทศเวียดนามเป็นสมาชิกสมทบ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีผลผลิตสูงและมีบทบาทสำคัญ และ 6) กำหนดการประชุมสภาไตรภาคียางฯ ระดับรัฐมนตรีครั้งต่อไปในปี 2561 ณ ประเทศมาเลเซีย

โดยสรุป ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งด้านยางพาราระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคายาง และมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยางธรรมชาติให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด